ศึกซูเปอร์คอมพิวเตอร์ระหว่างอเมริกากับจีน
ศ. ดร.ประภาส จงสถิตวัฒนา
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในสังคมสมัยใหม่ คอมพิวเตอร์มีอิทธิพลต่อการกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศอย่างมาก ความสามารถในการผลิตเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ จึงเป็นเครื่องแสดงศักยภาพของประเทศอย่างหนึ่ง ในอดีต อเมริกาเป็นชาติแรกที่ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ได้ ต่อมาก็เป็นญี่ปุ่น แต่ในปัจจุบัน จีนเป็นชาติใหม่ที่ทุ่มเทกับเทคโนโลยีนี้ คอมพิวเตอร์ที่มีพลังคำนวณเป็นพิเศษ มีการพัฒนาตั้งแต่แรกกำเนิดของคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในกิจการทหาร เช่น คำนวณตารางวิถีกระสุนของปืนใหญ่ ถูกเรียกว่า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ จึงเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เพื่อสนับสนุนและแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติของอเมริกามีการจัดอันดับ 500 ระบบคอมพิวเตอร์ที่แรงที่สุดของโลกทุกปี ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา (Top 500.org) ผลจากการจัดอันดับนี้ ทำให้เกิดการแข่งขันว่า ใครจะเป็นที่หนึ่งในแต่ละปี เป็นแรงผลักดันการพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ อันดับหนึ่งใน 13 ปีที่ผ่านมา เป็นดังนี้
2002-2004 ญี่ปุ่น
2005-2009 อเมริกา
2010 จีน
2011 ญี่ปุ่น
2012 อเมริกา
2013-ปัจจุบัน จีน
ระบบคอมพิวเตอร์เหล่านี้ มิใช่เป็นกล่องคอมพิวเตอร์เพียงกล่องเดียว หรือแม้แต่เป็นตู้ขนาดใหญ่ตู้เดียว เราลองดูระบบของญี่ปุ่นที่เป็นแชมป์ปี 2011 (RIKEN) ประกอบด้วยตู้ขนาดใหญ่กว่าตู้เอกสารในสำนักงานจำนวน 864 ตู้ ใช้ซีพียู 640,000 แกน (ตัว) มีความเร็วในการคำนวณ 10 Petra-Flops (หนึ่งพันล้านล้านการคำนวณเลขต่อวินาที 10x1015 Floating-point Operations) กินพลังไฟฟ้าถึง 10 เมกะวัตต์ (เทียบกับเชื่อนขนาดเล็ก เช่น เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ผลิตไฟฟ้าสูงสุด 70 เมกะวัตต์) ปัจจุบันครองอันดับ 4 พลังคำนวณนี้ ให้เห็นภาพเทียบกับเครื่องคิดเลขได้ 10 Flops และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะปัจจุบันทำได้ 10x10¬9 Flops (ช้ากว่า RIKEN ล้านเท่า)
อันดับหนึ่งในปัจจุบัน คือ จีน คำนวณได้ 33.8 Petra-Flops โดยใช้ซีพียู 3 ล้านกว่าแกน และกินไฟ 18 เมกะวัตต์
จีนนับเป็น “หน้าใหม่” ในการวงการผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ แต่ใน 10 ปีที่ผ่านมา จีนมีนโยบายทุ่มเทเรื่องนี้อย่างชัดเจน และมีการวิจัยทำซีพียูเองอีกด้วย
ในปี 2010 กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ได้เสนอรายงานที่สนับสนุนการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่มีพลังคำนวณ “เร็วกว่าที่เร็วที่สุด” อีก 30 เท่า เป็นที่มาของคอมพิวเตอร์ exascale (1018 Flops, exa-Flops) ที่ยังทำไม่ได้ในปัจจุบัน และปีนี้เอง รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ผลักดันนโยบายและงบประมาณที่จะพัฒนาคอมพิวเตอร์ดังกล่าวให้เป็นจริง ในปี 2025
ปลายปีที่แล้ว อเมริกา ประกาศห้ามขายซีพียู (ของบริษัท Intel) ที่จีนสั่งซื้อจำนวนมาก เพื่อไปทำซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นถัดไป โดยอ้างถึงความปลอดภัยทางทหาร ซึ่งพอจะประมาณได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้จีนพัฒนาคอมพิวเตอร์ หรือถ่วงเวลาให้ช้าลง
การที่จีนไม่สามารถใช้ชิปจากอเมริกา ก็คงใช้ชีปที่พัฒนาขึ้นเอง ระยะต้น อาจจะต้องไล่ตามผู้ผลิตชิปของอเมริกา แต่ในที่สุด จีนจะมีความสามารถผลิตชิปสมรรถนะสูง
เมื่อเดือนที่แล้ว จีนประกาศห้ามส่งออกเทคโนโลยี ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และหุ่นยนต์บินได้สมรรถนะสูง (drones)
ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เหล่านี้ ในปัจจุบันและในอนาคต ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนา ยา วัสดุ ศึกษาด้านการแพทย์ พยากรณ์อากาศ ทำงานออกแบบที่สลับซับซ้อน และแน่นอน ใช้ด้านการทหาร เช่นการเข้าและถอดรหัสลับ การออกแบบอาวุธนิวเคลียร์
ดูเหมือนว่า โลกพ้นจากยุคนิวเคลียร์ (สงครามเย็น สหรัฐฯ-รัสเซีย) ก็เข้าสู่ยุคสงครามข้อมูล ใครมีคอมพิวเตอร์ทรงพลังกว่ากันดูเหมือนจะได้เปรียบ
ที่มา : เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2558
http://www.dailynews.co.th/it/350119